แชร์เทคนิคการบริหารเงิน ฉบับมนุษย์เงินเดือน

530 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แชร์เทคนิคการบริหารเงิน ฉบับมนุษย์เงินเดือน

สูตรที่ 1 บริหารเงินแบบ 80/20
สูตรการออมเงิน 80/20 คือ การแบ่งรายรับในแต่ละเดือนออกเป็น 2 ส่วน โดย 20% แรก แบ่งออกมาเพื่อเป็นเงินออม และอีก 80% ที่เหลือสามารถนำไปใช้จ่ายได้ เช่น หากคุณมีรายได้เดือนละ 15,000 บาท หากออมเงินด้วยหลัก 80/20 คุณจะต้องแยกเงินออกมาเพื่อเก็บออม 2,500 บาท (20% ของ 15,000 บาท) และแบ่งเงินก้อน 80% เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โดยแบ่งเงินก้อน 80% เพื่อใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

1. รายจ่ายประจำวัน ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง สำหรับค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้ควบคุมยาก เพราะบางครั้งก็เป็นเงินที่จ่ายออกไปทีละน้อย แต่พอมาคำนวณและนับรวมแล้วในแต่ละเดือนไม่น้อย ดังนั้น คุณจึงควรคุมรายจ่ายในส่วนนี้ ไม่ควรเกิน 20% ของรายจ่ายแต่ละเดือน

2. รายจ่ายประจำเดือน รวมไปถึงประจำปี ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือ ผ่อนบ้าน บางรายการก็เป็นหนี้ไม่ดี เช่น เงินผ่อนสินค้าที่เกินความจำเป็น ดังนั้น ในส่วนนี้เราขอแนะนำให้คุณบริหารเงินไม่ควรเกิน 50% ของรายจ่ายแต่ละเดือน

3. รายจ่ายสำหรับการลงทุนเพื่อเป็นรายได้ในอนาคต เช่น การลงทุน ซื้อประกันชีวิต ประกันออมทรัพย์ การลงทุนในกองทุน ลงทุนในความรู้การศึกษา ถึงแม้ว่ารายจ่ายในกลุ่มนี้จะก่อให้เกิดผลตอบแทนที่งอกเงยในอนาคต แต่ก็ควรแบ่งสัดส่วนให้ดีๆ จึงไม่ควรเกิน 30% ของรายจ่ายแต่ละเดือน

เงินก้อน 20% สำหรับใช้ในการออม
ควรแบ่งเงิน 20% เพื่อเป็นเงินเก็บออม โดยปกติจะนิยมแบ่งเงินออกเป็นก้อนๆ ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่น 1,000 บาทเก็บเพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 500 บาทเพื่อเตรียมซื้อของในเวลาจำเป็น อีก 1,000 บาทเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ เป็นต้น


สูตรที่ 2 บริหารเงินแบบ 50 - 30 - 20
สำหรับสูตร 50 - 30 - 20 นี้จะแตกต่างจากสูตรแรก ตรงที่แบ่งสัดส่วนรายได้ตามหมวดหมู่ที่วางแผนไว้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน คือ เวลาเงินเดือนเข้าบัญชีก็จัดการแบ่งออกเป็น 3 ก้อนไว้เลย เช่น เงินเดือน 15,000 บาท ก็แบ่งเป็น 7,500 บาท : 5,000 บาท : 2,500 บาท โดยจำแนกเงินออกเป็นดังนี้

1. เงินก้อน 50% สำหรับใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน

เงินจำนวน 7,500 บาท สำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็น เงินค่าอยู่ค่ากิน เงินจ่ายหนี้บัตรเครดิต เงินค่าผ่อนของ ค่าผ่อนรถ หรือผ่อนคอนโดมิเนียม รวมถึง ให้พ่อแม่ โดยเงินก้อนนี้จะใช้จ่ายเพื่อความจำเป็น (Needs) ต่อการดำรงชีวิต ไม่ใช่เพื่อความต้องการ (Wants) ดังนั้น ก่อนตัดสินใจต้องแน่ใจว่าใช้จ่ายเพื่อความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
2. เงินก้อน 30% สำหรับใช้เพื่อซื้อสร้างความสุข

เงิน 5,000 บาท สำหรับใช้เพื่อสร้างความสุข เช่น ทานอาหารนอกบ้าน ชอปปิง ท่องเที่ยว รวมถึง ค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นเงินจ่ายเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง แต่ควรคิดให้รอบคอบว่าเพื่อความจำเป็นจริงๆ เช่น เมื่อเดือนที่แล้วซื้อรองเท้า 1 คู่ ดังนั้น อีก 5 เดือนนับจากนี้ก็ควรงดซื้อ หรือตั้งเป้าหมายว่าจะทานอาหารนอกบ้านไม่เกินเดือนละ 2 ครั้ง เป็นต้น หากเป็นเช่นนี้จะทำให้การใช้จ่ายเงินอยู่ในงบประมาณที่วางเอาไว้
3. เงินก้อน 20% สำหรับใช้ในการออม

เงินก้อนสุดท้ายจำนวน 2,500 บาท สำหรับเก็บออม โดยทำการแบ่งเงินออกเป็นก้อนๆ ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่น 1,000 บาทเก็บเพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 500 บาทเพื่อเตรียมซื้อของในเวลาจำเป็น อีก 1,000 บาท เพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ โดยเงินก้อนสุดท้ายนี้ควรนำไปเก็บออมไว้ตามความเหมาะสมของแต่ละเป้าหมาย โดยเงินเก็บเพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินควรเป็นเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เงินเพื่อซื้อบ้านควรนำไปซื้อกองทุนรวมผสม หรือ เงินเพื่อวัยเกษียณ เป็นต้น
สำหรับทั้ง 2 สูตรบริหารเงิน ที่เราได้แนะนำไปนั้น การวางแผนการเงินสำหรับอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง และสิ่งที่ใช้แก้ปัญหาส่วนใหญ่ได้ก็คือเงิน แม้ว่าการออมเงินจะทำได้ยาก และต้องมีวินัยในตัวเองค่อนข้างสูง แต่ถ้าหากเรากลั้นใจบังคับตัวเองไปสักระยะหนึ่ง เราจะพบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นคุ้มค่าอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้