266 จำนวนผู้เข้าชม |
7 ขั้นตอนการทำตลาดออนไลน์สำหรับมือใหม่
การตลาดออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนและเส้นทางการซื้อได้มุ่งเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งสินค้าขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงอย่างรถหรือบ้านก็ยังเกิดกระบวนการในการตัดสินใจซื้อจากออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการทำการตลาดออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นและรอไม่ได้อีกต่อไป ในยุคที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงของการตลาดดิจิทัลทำให้เห็นข้อหนึ่งว่า จริงๆ แล้วการแข่งขันไม่ใช่การแข่งกับคู่แข่งทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแข่งกับตัวเอง และการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากกว่า อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดออนไลน์ยังมีความคล้ายการทำตลาดแบบดั้งเดิมอยู่บ้าง แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ ลักษณะทางกายภาพ ขั้นตอน และกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นเราขอนำเสนอ 7 ขั้นตอนการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อเป็นไกด์ไลน์สำหรับมือใหม่ที่กำลังจะลงสู่สนาม ให้มีหลักให้จับเพื่อให้การทำการตลาดออนไลน์ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
1.ทำ Market Research
หรือต้องเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า เข้าใจคู่แข่ง ว่าลูกค้าและคู่แข่งของเราคือใคร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการทำการตลาด เราต้องมองหา Winning Zone หรือจุดที่เราจะชนะ จุดที่เราต่างจากคู่แข่งและเป็นจุดที่ลูกค้าต้องการ หลายแบรนด์พลาดจุดนี้คือนำเสนอจุดขายที่ลูกค้าไม่ต้องการ อาจเป็นจุดขายที่เรามีและเราเก่งแต่ลูกค้าไม่ได้อยากได้ หรือเป็นจุดที่ทั้งเราและคู่แข่งมีและทำแข่งกันด้วยซ้ำแต่ลูกค้าไม่ได้อยากได้ อีกจุดที่มักพลาดคือเห็นคู่แข่งเคลมอะไร คู่แข่งนำเสนออะไรแล้วรู้สึกว่าต้องทำบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงสินค้าบางอย่างไม่จำเป็นต้องขายในมุมมองเดียวกันก็ได้ ลูกค้าคนละคนอาจมีต้องการต่างกัน ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องนำเสนอจุดขายที่จริงๆ เราไม่มีแต่พยายามบอกว่ามี Winning Zone ของลูกค้าแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะต่างกันซึ่งเราต้องทำการศึกษาเพื่อหาให้เจอ
2. ทำความเข้าใจลูกค้าให้ลึกขึ้น
โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเลือกว่าจะเจาะลูกค้ากลุ่มไหน คือมองว่าทั้งโลกของสินค้าตัวนี้ว่ามีกลุ่มลูกค้ากี่กลุ่ม โดยอาจแบ่งจากช่วงอายุ, โลเคชั่น, ไลฟ์สไตล์ และโอกาสในการซื้อ บางครั้งสินค้าบางอย่างอาจมีกลุ่มลูกค้าเป็นสิบๆ กลุ่ม แต่เนื่องจากข้อจำกัดของทั้งแรงงาน เวลาและงบประมาณเราอาจแบ่งลูกค้าออกเป็นแค่ 3 กลุ่มว่าคือลูกค้าที่เราต้องการมากที่สุดและสามารถปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นขั้นตอนนี้อาจเป็นไปได้ว่าจากลูกค้าที่มีเป็นสิบๆ กลุ่มเราจะเลือกใคร โดยดูจาก Winning Zone ที่เลือกมาแล้วว่าเราจะเข้าถึงกลุ่มไหนได้ดีที่สุด เพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาของลูกค้าคืออะไร สิ่งที่เขาต้องการคืออะไร สิ่งที่เขาไม่ต้องการคืออะไร ซึ่งคำว่าไม่ต้องการหลายคนอาจมองข้ามแต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เช่น เมื่อนำเสนอสินค้าบางอย่างที่ลูกค้าต้องการ คุณสมบัติต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้เขา แล้วต่อมานำเสนอคุณสมบัติบางอย่างที่เขาไม่ต้องการเพิ่มขึ้นมา ทำให้ลูกค้าอาจมีความรู้สึกว่ามากไป เพราะเป็นการสร้างดีมานส่วนเกิน ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าตัวนี้มีคุณสมบัติเกินสิ่งที่เขาอยากได้และมีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเรารู้ว่าเขาไม่ต้องการอะไรบางครั้งไม่ต้องบอกคุณสมบัติทุกอย่างของสินค้าก็ได้ บอกเฉพาะจุดที่เขาอยากได้ บอกข้อดีข้อเสีย เงื่อนไขที่เขาต้องรู้ทั้งหมดพอ
3. เลือกช่องทางในการโปรโมท
เลือกว่าจะโปรโมทสินค้าที่ไหน โดยดูจาก Customer Journey หรือเส้นทางการเดินทางของลูกค้า โดยเข้าไปดักให้ได้ว่าเราจะเข้าไปเจาะใจเขาได้ที่ตรงไหน จะใช้ Facebook ,Line official account, Instagram, Twitter หรือช่องทางไหน โดยเลือกจากช่องทางที่ลูกค้าอยู่เป็นหลัก
4. สร้างคอนเทนต์
เมื่อรู้ความต้องการของลูกค้าและรู้แล้วว่าจะไปช่องทางไหนก็ถึงเวลาออกแบบคอนเทนต์ ว่าจะใช้คอนเทนต์แบบไหนสำหรับใช้ในช่องทางใด เจาะลูกค้ากลุ่มไหน ปัญหาของลูกค้าคืออะไร แล้วจึงทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ให้ลูกค้าเข้ามาเสพ ติดตามค้นหาเราเจอและดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ผ่านโลกออนไลน์
5 ลงโฆษณา
ในกระบวนการในการลงโฆษณาก็จะมีเรื่องที่ต้องคิดว่า จะลงอย่างไรและต้องวัดผลด้วยวิธีไหน จะเลือกวัตถุประสงค์อะไรในการลงโฆษณา เลือกกลุ่มเป้าหมายแบบไหน มีงบประมาณเท่าไหร่ ระยะเวลาในการโฆษณา
6. วัดผล
หลังจากทำแคมเปญลงโฆษณา ต้องมีการวัดจะวัดผลด้วยวิธีไหน ต้องวัดอะไรบ้าง ใช้เงินไปเท่าไหร่ คุ้มค่าหรือไม่ โฆษณาตัวนี้ต้องวัดผลคนทัก วัดผลจากยอดขาย วัดผลจากคนกดไลค์ วัดผลจากคนเห็น วัดผลคนแชร์ซึ่งแต่ละวัตถุประสงค์จะมีวิธีการวัดผลไม่เหมือนกัน
7.เก็บ Key Learning
หลังจากทำแคมเปญเสร็จถ้ามีการวางแผนมาตั้งแต่แรกจะสามารถสรุปผลภายได้ในหนึ่งสัปดาห์ หรือภายใน 1 เดือน ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำทุกขั้นตอนนี้จะเอาไปทำอะไรต่อได้อีก เพราะว่าการทำการตลาดก็คือการทดลอง Marketing is test ไม่ได้แปลว่าทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะมียอด ถ้าวันนี้ไม่มียอดพรุ่งนี้จะทำอย่างไรต่อ ต้องมีการทดลองทำจริง ต้องมีการลงไปเล่นในสนาม นำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปปรับปรุงในการทำครั้งต่อไป ทดลองไปเรื่อยๆ