1045 จำนวนผู้เข้าชม |
ชีวิตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจะมีสักกี่ครั้งที่คุณได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง หรือมีโอกาสได้ทบทวนถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้ซึมซับ ทำความเข้าใจ รับรู้ถึงการมีอยู่ของปัญหา แน่นอนว่าหาโอกาสนั้นได้ยากเต็มที ไหนจะปัญหาเรื่องงาน ครอบครัว ความรัก ไหนจะปัญหาที่ต้องเจอในแต่ละวันล้วนยากจะทำให้จิตใจสงบลงได้ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีรับมือแตกต่างกันไป บ้างก็จมอยู่กับความเครียดบ้างก็เลือกทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เช่น ท่องเที่ยว กินอาหารที่อยากกิน เล่นกับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถออกจากปัญหาจริง ๆ ได้ ทำได้แค่เว้นระยะห่างสักระยะค่อยกลับไปเผชิญใหม่เท่านั้น เราจึงอยากให้คุณลองตั้งสติและให้เวลากับตัวเองสัก 5 นาที ทำสมาธิเพิ่มความสงบให้จิตใจดูสักครั้ง บางทีอาจเจอทางออกที่เป็นทางออกจริง ๆ ไม่ใช่แค่การหนีก็เป็นได้
ประโยชน์ของการทำสมาธิเพื่อสุขภาพจิตของคุณ
การทำสมาธิช่วยให้คุณหยุดนิ่งชั่วคราวเพื่อมองดูสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ รับรู้เรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา ส่งผลให้จิตใจค่อย ๆ ผ่อนคลาย พร้อมเข้าสู่กระบวนการทำความเข้าใจตัวเอง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเยี่ยวยาสุขภาพจิตของคุณให้ดีขึ้นตามลำดับ
1. เข้าใจความหมายของชีวิต
คุณเคยมีคำถามเหล่านี้กับตัวเองไหม คุณเกิดมาเพื่ออะไร ความสุขของคุณอยู่ตรงไหน คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คือ อะไร ความหมายของการมีชีวิตอยู่เป็นยังไง? แน่นอนว่าคุณจะไม่มีวันหาคำตอบหรือมีโอกาสได้ถามคำถามเหล่านี้เลยหากคุณไม่เคยได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ดังนั้นลองนั่งสมาธิและอยู่กับตนเองแล้วคุณจะได้คำตอบ
2. มีแนวโน้มนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ มากกว่าช่วงเวลาแย่ ๆ
ทุกคนมีทั้งความทรงจำที่ดีและแย่เกิดขึ้นตลอดการมีชีวิตอยู่ แต่ด้วยความเครียดและการไม่มีเวลาให้กับตัวเองมากพอมักทำให้เราจดจ่ออยู่กับความทรงจำแย่ ๆ และนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้บั่นทอนจิตใจ จนกลายเป็นเพิ่มความเครียดให้กับตนเองมากขึ้น กลับกันหากคุณมีสติความทรงจำที่จะปรากฎขึ้น ส่วนใหญ่มักเป็นช่วงเวลาดี ๆ ให้คุณได้หวนรำลึกถึง แม้ไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องเล็ก ๆ ที่ทำให้สุขใจ
3. เข้าใจว่าสิ่งใดสำคัญกับตัวเองจริง ๆ
การใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็มีสิ่งกระตุ้นความต้องการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด จนหลายคนเกิดความสับสนว่าสิ่งไหนสำคัญกับตัวเองจริง ๆ กันแน่ บางคนบอกว่าสิ่งนั้นดี บางคนบอกว่าสิ่งนี้ไม่ดี จนตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้เพราะเราโฟกัสอยู่กับคนอื่นมากเกินไป ดังนั้นหากอยากรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริง ๆ เราก็แค่ต้องลองอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น
4. มีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง
เมื่อเราเข้าใจตัวเองเราก็จะเริ่มเข้าใจคนอื่น เมื่อเราเข้าใจคนอื่นก็จะสามารถสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกันได้โดยง่าย กลายเป็นแรงผลักดันสนับสนุนให้ต่างฝ่ายต่างอยากพัฒนาตนเองตามไปด้วย
5. ปรับอารมณ์ได้เร็ว
แน่นอนว่าการทำสมาธิช่วยให้คุณเข้าใจตัวเอง ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาขึ้นก็จะรู้ว่าปัญหาเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ควรรับมืออย่างไร พอถึงเวลาที่ต้องเจอสถานการณ์เหล่านั้นอีกครั้ง และมีความรู้สึกหรือสภาวะอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะสามารถปรับอารมณ์ให้กลับเข้ามาอยู่ในโหมดปกติได้อย่างรวดเร็ว
มือใหม่เริ่มต้นนั่งสมาธิอย่างไรดี
การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ไม่ถนัดกับการอยู่นิ่ง ๆ ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างเหมาะสมและทำอย่างต่อเนื่องจึงจะช่วยได้
1. ตัดสิ่งรบกวนทุกอย่างออกไป
หากคุณตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าจะนั่งสมาธิ อะไรที่คิดว่าจะเป็นสิ่งรบกวนทำให้จิตใจวอกแวก ให้นำสิ่งนั้นออกห่างจากตัวให้ได้มากที่สุด เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ ส่วนแอปพลิเคชันที่ใช้ในการสื่อสาร ควรปิดการแจ้งเตือนทุกอย่างในระหว่างที่ทำสมาธิ
2. ลองจากระยะเวลาสั้น ๆ
การนั่งสมาธิที่ดีไม่ได้วัดว่าคุณนั่งได้นานแค่ไหนแต่วัดตรงที่ว่าคุณได้ทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในระหว่างการนั่งสมาธิได้มากแค่ไหนต่างหาก ดังนั้นสำหรับผู้เริ่มต้นไม่จำเป็นต้องนั่งนาน 1 – 2 ชั่วโมง อาจเริ่มแค่ 10 – 15 นาทีต่อวัน พอเริ่มเคยชินแล้วค่อยเพิ่มเป็น 20 – 30 นาที
3. นั่งสมาธิก่อนนอน
เคยสังเกตไหมเวลาที่เรากำลังล้มตัวลงนอนแต่ยังไม่ถึงขั้นหลับมักมีความคิดถาโถมเข้ามา บางคนถึงขั้นนอนไม่หลับเพราะมัวแต่กังวลกับปัญหาดังกล่าว ในขณะที่บางคนต้องทำกิจกรรมอื่น ๆ เบี่ยงเบนความสนใจ ลองเปลี่ยนจากการจมอยู่กับความคิดนั้นมาเป็นนั่งสมาธิก่อนนอนและทำความเข้าใจทีละประเด็น พอหายข้องใจแล้วสมองและจิตใจของคุณก็จะปลอดโปร่งโล่งสบาย พร้อมสำหรับการนอนหลับและเปิดรับสิ่งใหม่ในเช้าวันถัดไป
4. นั่งในท่าที่สบายที่สุด
หลายคนอาจเข้าใจว่าการนั่งสมาธิจำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิ หลังตรง เอามือสองขว้างวางบนตัดแล้วหลับตา แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำสมาธิไม่จำเป็นต้องทำท่านี้ก็ได้ แต่ควรเลือกท่านั่งที่คิดว่าตัวเองจะสบายหรือนั่งได้นานที่สุด เช่น นั่งพิงผนัง หรือนอนหลับตากำหนดลมหายใจ เป็นต้น
5. อย่ากดดันตัวเองเกินไป
ช่วงแรกของการนั่งสมาธิ คือ ต้องอาศัยการปรับตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยทำมาก่อน บางคนอาจเกิดความกังวลว่าตนเองจะทำได้ไม่ดี ขอให้รู้ไว้เลยว่าเป็นเรื่องปกติ ทำไม่ได้ไม่เป็นไรครั้งหน้าเอาใหม่ กดดันไปก็เท่านั้น
คุณเหมาะกับการทำสมาธิแบบไหน
หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการทำสมาธิและประโยชน์ที่ได้รับแล้ว คราวนี้มาดูกันบ้างว่าการทำสมาธิมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเหมาะกับคุณหรือไม่
ทำสมาธิแบบจดจ่อ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการขบคิดประเด็นปัญหาอย่างจริงจัง แต่เน้นทีละประเด็น
ทำสมาธิด้วยการเคลื่อนไหว เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบการอยู่นิ่งและต้องการจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายมากกว่าจิตใจ เช่น การเดินจงกลม การเล่นโยคะ
ทำสมาธิแบบใช้จินตนาการ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำสมาธิเพื่อรับมือกับปัญหาและสถานการณ์กดดันจากประสบการณ์ในจินตนาการ
ทำสมาธิแบบเน้นคลายกล้ามเนื้อ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเพิ่มความผ่อนคลายและลดความตึงเครียดให้กับร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้จิตใจได้สัมผัสกับความผ่อนคลายไปพร้อมกัน