614 จำนวนผู้เข้าชม |
คอนเน็กชั่น
“คอนเน็กชั่น” ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากความอยากได้ประโยชน์จากผู้อื่น แต่เกิดจากหัวใจที่อยากมอบสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นมากกว่า ลุงมานิตสมัยขายสินค้าที่ภาคใต้ จะคอยแนะนำเรื่องการจัดร้าน และการขายสินค้าให้กับร้านค้าที่รับสินค้าไปขายด้วยความจริงใจและปรารถนาที่อยากจะให้เขาขายได้ จนพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ดี มีความจริงใจต่อกันในที่สุด
ลงมือทำแล้วโอกาสจะมาเอง
“เมื่อกล้าลงมือทำสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นจะพาเราไปสู่สิ่งต่อ ๆ ไปที่คิดไม่ถึง เหมือนเกมต่อจุด ความสำเร็จหนึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จถัดไป ความกล้าหนึ่งจะนำไปสู่ความกล้าถัดไป ความกล้าเกิดจากความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นเกิดจากประสบการณ์ ประสบการณ์เกิดจากความกล้าที่จะลงมือทำทั้งที่ยังไม่มีประสบการณ์ การกล้าลงมือทำในตอนตั้งต้นจึงสำคัญ”
ไม่ว่าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด
คุณลุงมานิตเป็นคนไม่ยอมแพ้ ทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด ไม่สำคัญว่างานของเราจะเป็นอะไร เช่น ถ้ามีคนกวาดถนน 10 คน เราต้องเป็นคนกวาดถนนที่สะอาดที่สุด อย่างตอนทำห้างโรบินสันด้วยทุน และทำเลของห้างไม่มีทางสู้ห้างใหญ่อย่างเซนทรัลได้เลย ลุงมานิตก็ใช้วิธีการทำงานให้หนัก ทำงานวันละ 15–16 ชั่วโมง ถ้าอยากทำให้ดีกว่าคนอื่น ต้องทุ่มเทมากกว่าคนอื่น
เมื่อตั้งใจแล้วต้องทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ห้ามเปิดโอกาสให้ตัวเองอิดออดแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว เพราะหนึ่งเปอร์เซ็นต์นี่เองจะเป็นรอยร้าวเล็กๆ ที่ทำให้กระจกแห่งความตั้งใจแตก และกระจายรอยร้าวไปในที่สุด
ผู้นำที่ใส่ใจกับเป้าหมายที่ชัดเจน
ผู้บริหารที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นพระเอก หน้าที่คือคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เติมเต็มสิ่งที่ขาด สนับสนุนสิ่งที่เขาทำได้ดี และคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษากับเขา คอยห่วงใยและปรารถนาดีกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับชั้น อยากให้พวกเขามีความสุข ซึ่งคุณลุงมานิตเคยพาคนดูแลสวนทั้งทีมไปสิงคโปร์ ไปดูว่าเขาดูแลต้นไม้ยังไง และก็กำลังจะพาไปจางเจียเจี้ยที่จีนอีกด้วย
ลุงมานิตเป็นเจ้านายที่ใจดี แต่ในขณะเดียวกัน “เป้าหมายต้องชัด” ซึ่งเราสามารถมีเมตตาไปพร้อมกับการกำหนดเป้าหมายชัดเจนได้ ไม่ใช่ใจดีจนเป้าหมายพร่าเลือน แบบนั้นก็ไม่ใช่ เงินเดือนที่จ่ายให้ทุกคน ได้มาจากการที่เราดูแล ใส่ใจลูกค้า เพราะฉะนั้นหากเราไม่ใส่ใจลูกค้า ลูกค้าไม่ซื้อของ จะเอาเงินจากไหนมาจ่ายพนักงาน รวมถึงตัวเจ้าของกิจการด้วย
กฎ 20:80
ในชีวิตเราสิ่งสำคัญจริงๆ คือ 20% ถ้าเราให้ความสำคัญกับส่วนนี้ก็จะไม่เสียเวลาไปกับ 80% ที่ไม่สำคัญ เราต้องฝึกแยก 20% ที่สำคัญออกมาจาก 80% ที่ไม่สำคัญ ถ้าทำแบบนี้กับทุกๆ เรื่อง ฝึกบ่อยๆ แล้วจะมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ในที่ประชุมที่ใช้เวลานานๆ เราควรจะแยกให้ได้ว่าอะไรคือ 20 ที่สำคัญและอะไรคือ 80 ที่ไม่สำคัญ จะช่วยให้เราไม่ต้องไปเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าฝึกบ่อยๆ จะสามารถแยกแยะได้ จะช่วยให้เราเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตมากขึ้น
Easy & Simple
ลุงมานิตเป็นคนที่ขึ้นชื่อเรื่องความเรียบง่าย จะเห็นได้จากที่คุณชัชชาติ ได้กล่าวไว้ในคำนิยมของหนังสือว่า คุณลุงมานิตซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของโฮมโปร แต่กลับปั่นจักรยานไปประชุม ไม่ใส่สูท ลุงมานิตให้เหตุผลที่ไม่ใส่สูท เพราะว่าใส่แล้วรู้สึกไม่สบาย ก็ไม่ใส่
“คุณบอกว่าคุณรวย ความรวยวัดด้วยเฟอร์นิเจอร์ใช่หรือเปล่า สำหรับผมไม่ใช่ ความรวยวัดกันที่คุณนอนหลับไหม คุณนอนหลับสบายหรือเปล่า กระวนกระวายหรือเปล่า แล้วถ้าคุณนอนหลับสบายมันดีกว่าคุณรวยแล้วนอนไม่หลับนะ ถ้าแม้เอาเตียงดีหรูหรามาประดับ ในแง่จิตใจมันก็ไม่ได้ช่วยเลย”
ไม่มีเงื่อนไข
คุณลุงยกตัวอย่างของการสร้างเงื่อนไขให้กับตัวเองว่า หากมีคนนัดเรา แทนที่เราจะตอบว่าได้หรือไม่ได้ แต่เรากลับบอกว่าขอคิดดูก่อน ทั้งที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ไป แต่ด้วยความเกรงใจจึงยังไม่ให้คำตอบ และหลังจากนั้นสามวันค่อยโทรไปบอกว่าติดธุระอื่นๆ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเสียน้ำใจ และรู้สึกว่าเราได้พยายามแล้ว จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าทั้งเรา และเขาต้องเสียเวลาถึงสามครั้งในการสร้างเรื่องต่างๆ ซึ่งจริงๆ ถ้าโอเคก็บอกโอเค ไม่โอเคก็บอกไม่โอเค ซึ่งมันตรงไปตรงมา มากๆ
ตัวเราเองชอบสร้างเงื่อนไขให้ชีวิต ไอ้นี่ไม่ชอบ ไอ้นั่นไม่ใช่ งานนี้ไม่ใช่แนวฉัน อันนี้ก็เบื่อ อันนี้ไม่พอใจ อันนี้กินแล้วไม่ถูกปาก อันนี้ไม่กิน คนนั้นไม่ดี ล้วนแล้วแต่เราใส่กรงขังให้กับตัวเองทั้งนั้น ยิ่งนานวันเข้ากรงที่ขังเราเหล่านี้ ก็ยิ่งมากขึ้น มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
เราไม่ชอบคนจีน ไม่ชอบไปจีนเพราะห้องน้ำสกปรก เราเลยไม่อยากไปแล้วผลลัพธ์ก็คือเราจะไม่มีวันได้ไปดูความเจริญในประเทศของเขาซึ่งเป็นด้านที่ดีเลย
เราไม่ชอบภาษาอังกฤษ เวลาเจองานที่ต้องใช้ภาษา เจอชาวต่างชาติ เราก็จะพยายามหนี ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเงื่อนไขที่เราสร้างขึ้นมาทั้งนั้น เราต้องไม่สร้างมันขึ้นมา แล้วจะไม่มีขีดจำกัด
รักษาคำพูด
เมื่อพูดแล้วต้องทำให้ได้ตามที่พูด ปิดประตูหลัง (เปรียบเทียบได้กับคนที่ยอมแพ้ เดินกลับหลัง) ที่จะถอยหนี เดินไปข้างหน้าอย่างเดียว ถ้าบอกกับตัวเองว่าทำได้
“คุณจะมั่นใจหรือไม่มั่นใจก็แล้วแต่ แต่คุณพูดอะไรต้องรับผิดชอบ คุณจะมาบอกว่าพูดไปด้วยความไม่มั่นใจนั่นคือประตูหลังสำหรับแก้ตัว ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอย่างไม่มีประตูหลัง คุณจะป่วยก็ต้องทำ คือพลังของจิตใต้สำนึก มันมีพลังมหาศาล แต่มันเซ้นสิทีฟ มันมีความมุ่งมั่นของมัน แต่คุณอย่าแทรก พอความกลัวเข้ามาปั๊บมันอ่อนไหวเลย หรือความไม่มั่นใจมาปั๊บ พลังจิตใต้สำนึกมันสลาย เพราะฉะนั้นถ้าเรามีพลังจิตใต้สำนึกที่มั่นคง มันไม่มี 95% ทุกอย่างเป็น 100% บอกว่าทำต้องทำให้ได้”
Cycle S ของธุรกิจ
Cycle S คือ การทำธุรกิจพอถึงจุดที่กำลังขึ้นๆ อยู่แล้วมันลง ซึ่งระยะเวลามันก็ประมาณ 10 ปี จากนั้นต้องใส่ S ตัวที่ 2 เข้าไปเพื่อให้มันโค้งขึ้นไปอีก แล้วก็เอา S3 มาอีก ต่อๆ ไปอีก ซึ่ง S ตัวที่ 2 เป็นความท้าทาย ถ้าทำไม่ได้ S ตัวแรก ก็จะค่อยๆ ดิ่งลง
ความสุขจากการให้
โดยปกติโครงการที่พักอาศัยจะกำหนดให้ 25% ที่จะเป็น facilities หรือ land-scape ถ้าเกินจากนั้น โครงการจะต้องนำเอาส่วนเกินนั้นไปบวกกับลูกค้า แต่สวอนเลคคือโครงการที่มีพื้นที่อาคารแค่ 22% จากพื้นที่ทั้งหมด อีก 78% กลายเป็นที่อยู่ของต้นไม้ นก ปลา พื้นที่ธรรมชาติ และพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันกลับหัวกลับหางไปเลย คุณลุงมานิตตั้งใจที่จะทำธุรกิจแบบที่จะให้กับลูกค้า และสิ่งแวดล้อม โดยคาดหวังผลกำไรที่เป็นตัวเงินน้อยลง แต่ไปเพิ่มกำไรที่ได้จากการให้ความสุขจากปลา นกและต้นไม้แทน