385 จำนวนผู้เข้าชม |
การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของรถ ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การโอนระหว่างบุคคลกับบุคคล การโอนแบบนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา การโอนรถให้ญาติหรือส่งต่อมรดก มีทั้งการโอนตรง และการโอนลอย การโอนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์รถมีความสำคัญยังไง การโอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง รวมถึงมีค่าโอนรถยนต์หรือค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ และเรื่องที่มองข้ามไม่ได้อย่างการโอนประกันรถยนต์ เราได้รวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังจะโอนรถมาให้เรียบร้อยแล้ว ติดตามไปพร้อม ๆ กันได้เลย
การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ คืออะไร?
การโอนรถ เป็นการเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถยนต์คนเดิมมาเป็นชื่อเจ้าของใหม่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ต้องการซื้อ-ขายรถยนต์ การส่งต่อรถยนต์ เช่น การส่งต่อรถยนต์ให้คนในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรืออื่น ๆ การดำเนินการมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะการดำเนินคดีในทางกฎหมาย กรณีที่ขายรถยนต์ให้กับเจ้าของใหม่หรือมีการส่งต่อรถยนต์เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้มีการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่เป็นฝ่ายผิด หรือเกี่ยวข้องกับการใช้งานในเชิงที่ผิดกฎหมาย คนที่ถูกดำเนินคดีคือตัวเจ้าของรถเอง
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะตัดสินใจซื้อ-ขาย หรือส่งต่อรถยนต์ให้ใครก็ตาม เมื่อตกลงรายละเอียดกันเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้โอนรถเป็นชื่อของผู้ซื้อให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
โอนกรรมสิทธิ์รถมีกี่แบบ โอนยังไงได้บ้าง?
การโอนรถยนต์หรือโอนกรรมสิทธิ์ สามารถเลือกได้ 2 แบบ คือ โอนตรงและโอนลอย โดยมีขั้นตอนการดำเนินการที่แตกต่างกันดังนี้
1. การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของแบบ “โอนตรง”
การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของแบบโอนตรง สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการที่เจ้าของเก่าและเจ้าของใหม่เดินทางไปติดต่อทำเรื่องขอโอนรถกับนายทะเบียนที่สำนักงานขนส่ง ประเด็นสำคัญคือรถยนต์คันที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของจะต้องมีสภาพตรงกับข้อมูลในใบคู่มือจดทะเบียนรถ
กรณีที่ข้อมูลไม่ตรง จำเป็นจะต้องกลับไปทำการแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมให้ตรงกับสภาพจริงก่อน เว้นแต่กรณีที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของจากผู้ให้เช่าไปยังผู้เช่าซื้อ เป็นผู้ครอบครองรถตามรายการจดทะเบียน พูดง่าย ๆ ว่าไม่จำเป็นต้องนำรถไปตรวจสภาพก่อน
2. การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของแบบ “โอนลอย”
การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ โอนลอย เป็นการโอนรถโดยเจ้าของเดิม (ผู้ขายรถ) ทำการมอบเอกสารให้กับเจ้าของคนใหม่ (ผู้ซื้อ) ไปดำเนินการเองหลังจากจบการซื้อ-ขาย ผู้ขายจะต้องทำการเซ็นชื่อกำกับไว้ที่เอกสารให้ครบ การโอนลอยรถถือเป็นการโอนรถที่ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในแวดวงเต็นท์รถมือสอง เนื่องจากช่วยให้ประหยัดเวลาในการดำเนินการของผู้ขาย
แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ เพราะการโอนแบบนี้มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะถ้าหากรถยนต์คันดังกล่าวไปทำเรื่องผิดกฎหมาย ในขณะที่ยังไม่ได้ดำเนินการโอนรถให้เสร็จเรียบร้อย เจ้าของเดิมจะต้องเป็นผู้รับผิดทางกฎหมายนั่นเอง
การโอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง?
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ สามารถโอนให้กับบุคคลได้หลากหลาย ดังนั้นเอกสารที่จำเป็นต้องใช้จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
เอกสารโอนรถแบบโอนตรง
ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดทะเบียนรถยนต์ฉบับจริง
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถยนต์คนเก่า และเจ้าของรถยนต์คนใหม่
สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนเจ้าของรถเก่า และผู้รับโอนเจ้าของรถใหม่เรียบร้อยแล้ว
เอกสารการโอนรถให้ญาติหรือผู้รับมรดก
ใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือสมุดทะเบียนรถยนต์ฉบับจริง
แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนเจ้าของรถเก่า และผู้รับโอนเจ้าของรถใหม่เรียบร้อยแล้ว
สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
สำเนาใบมรณบัตรเจ้าของรถ (กรณีเจ้าของเดิมเสียชีวิต) และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรม พร้อมสำเนาที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ
หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ (ผู้ขายที่เป็นเจ้าของเดิม) และของผู้รับมอบอำนาจ (ผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของใหม่)
เอกสารโอนรถแบบโอนลอย
ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดทะเบียนรถยนต์ฉบับจริง
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถยนต์คนเก่า และเจ้าของรถยนต์คนใหม่
สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนเจ้าของรถเก่า และผู้รับโอนเจ้าของรถใหม่เรียบร้อยแล้ว
หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบ (ผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของใหม่)
ขั้นตอนการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ ใช้เวลานานมั้ย?
สำหรับการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของมีขั้นตอนการดำเนินการที่ง่ายมาก แถมยังใช้เวลาไม่นานอีกด้วย สามารถเลือกไปดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่ง ดังนี้
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร หากรถยนต์คันที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของมีทะเบียนที่กรุงเทพฯ หรืออยู่ที่กรุงเทพฯ สามารถเข้าไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครได้เลย
สำนักงานขนส่งจังหวัด หากตัวเจ้าของรถและรถยนต์อยู่ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ สามารถเลือกเข้าไปดำเนินการยังสำนักงานขนส่งประจำจังหวัดที่อาศัยได้เช่นกัน
สำนักงานขนส่งจังหวัด ที่มีระบุในคู่มือจดทะเบียนรถ หากมีความสะดวกในการเดินทาง สามารถเลือกดำเนินการที่สำนักงานขนส่งที่ระบุไว้ในใบคู่มือหรือที่มีการขอแจ้งใช้รถไว้ก็ได้ด้วยเช่นกัน
ขั้นตอนโอนกรรมสิทธิ์รถ
เดินทางไปยังสำนักงานขนส่งที่สะดวก พร้อมกับนำรถยนต์ที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของ เข้ารับการตรวจสภาพรถได้ที่สถานตรวจสภาพรถ หรืออาคารตรวจสภาพรถ ที่สำนักงานขนส่งนั้น ๆ
ติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องโอนเปลี่ยนเจ้าของรถยนต์ พร้อมกับแนบเอกสารประกอบ และชำระค่าธรรมเนียม
หลังจากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอรับเอกสารใบคู่มือจดทะเบียนรถคืน พร้อมกับรับใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายการเสียภาษี และแผ่นป้ายทะเบียนรถ
สำหรับระยะเวลาในการรอเล่มตามปกติแล้วจะใช้เวลา 15 วันทำการ หลังจากที่ทำการยื่นเรื่องโอนรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะต้องทำการแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่โอน หากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นจะมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์
สำหรับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการโอนรถผ่านสำนักงานขนส่งในพื้นที่ใดก็ตาม จะมีค่าโอนรถยนต์เหมือนกันดังนี้
ค่าคำขอโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ 5 บาท
ค่าธรรมเนียมการโอนรถ 100 บาท
ค่าเปลี่ยนเล่มทะเบียน 100 บาท (กรณีเล่มทะเบียนชำรุด)
ค่าเปลี่ยนป้ายทะเบียน 200 บาท (กรณีต้องการเปลี่ยน)
ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อการประเมินราคารถยนต์ 100,000 บาท
ขั้นตอนการโอนประกันรถยนต์
หลังจากดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมโอนประกันรถยนต์เพื่อให้รถคันที่เปลี่ยนเจ้าของได้รับความคุ้มครองดังเดิม ซึ่งมีรูปแบบการโอน 2 กรณีคือ การโอนประกันรถยนต์แบบไม่ระบุผู้ขับขี่ และการโอนประกันรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่ โดยมีเอกสารที่จำเป็นต้องเตรียม ดังนี้
1. การโอนประกันรถยนต์ที่ไม่ระบุผู้ขับขี่
กรณีประกันรถยนต์ที่เจ้าของรถคนเดิมทำเอาไว้แล้วไม่ได้ระบุชื่อคนขับ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยชั้นไหนก็ตาม เจ้าของใหม่สามารถใช้กรมธรรม์นั้นต่อได้เลย รวมถึงยังจะได้รับความคุ้มครองจนกว่าประกันจะหมดอายุ แต่ถึงอย่างนั้นควรแจ้งเปลี่ยนกับทางบริษัทประกันให้เรียบร้อย พร้อมกับเตรียมเอกสารดังนี้
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของเดิม ที่มีการเซ็นยินยอมให้โอนประกันภัยแก่เจ้าของคนใหม่
ใบซื้อ-ขายที่เป็นหลักฐานการซื้อ-ขายรถยนต์ เพื่อแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของใหม่
2. การโอนประกันรถยนต์ที่ระบุผู้ขับขี่
กรณีที่เป็นประกันรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่ จะต้องมีการแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้ขับขี่ เพื่อให้บริษัทประกันปรับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันตามคุณสมบัติของเจ้าของรถคนใหม่ หากไม่ดำเนินการแจ้งเปลี่ยนให้เรียบร้อย เมื่อเกิดอุบัติเหตุเป็นฝ่ายผิด ผู้ที่เป็นเจ้าของกรมธรรม์เดิมจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกเอง ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ใช่ความผิดของตนทันที
โดยการโอนประกันรถยนต์รูปแบบนี้ จะต้องเตรียมเอกสารดังนี้
เอกสารยินยอมการโอนชื่อผู้รับผลประโยชน์ ที่เจ้าของกรมธรรม์ (ผู้ขาย) จะต้องยื่นขอกับบริษัทประกัน
ใบซื้อ-ขายที่เป็นหลักฐานการซื้อ-ขายรถยนต์ เพื่อแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของใหม่ และขอให้ถอดชื่อเจ้าของเดิมในกรมธรรม์ออก